“เสริมสร้างจิตสาธารณะ” จากเรียนรู้ ปฏิบัติ สู่การถ่ายทอด

20170812-111-bylek resize 

เริ่มต้นจากการนำนักศึกษา ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมอันดีงามฉือจี้ ผ่านการแสดงภาษามือประกอบเพลงคุณธรรม ก่อนจะนำลูกศิษย์ก้าวเข้าสู่ชุมชน ร่วมดูแลผู้ป่วยและผู้ยากไร้ที่ต้องการ ความช่วยเหลือ รวมทั้งนำผู้ร่วมอุดมการณ์ความเป็นครู เสริมสร้างพัฒนาจิตสาธารณะของตนเอง เพื่อถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ ทั้งหมดนี้คือ การทำงานด้วยความทุ่มเท ของ รศ. ดร.เรียม ศรีทอง จิตอาสาฉือจี้ ที่แม้จะอยู่ในวัยหลังเกษียณ แต่ตราบใดที่ร่างกายยังแข็งแรง ท่านจะยังยืนหยัด ตามปณิธาน “แม่พิมพ์ของชาติ” ต่อไป

ค้นหาความหมายของ “ชีวิต” และ “ความตาย”

จากการถวายความรู้ให้กับพระภิกษุสงฆ์ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในหลักสูตร “ชีวิตและความตาย” ทำให้ รศ.ดร.เรียม ศรีทอง ได้มีโอกาสได้รู้จัก “ฉือจี้” เป็นครั้งแรก ผ่านพระอาจารย์ผู้คุมหลักสูตร ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาดูงานฉือจี้ไต้หวัน และกลับมาเล่าให้ ดร.เรียมฟังถึง เรื่องราวชีวิตของผู้คนที่น่าสนใจจำนวนมาก ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา ดร.เรียม จึงเกิดความสงสัยว่า “ฉือจี้” จะเกี่ยวข้องกับหลักสูตรชีวิตและความตายอย่างไร

เพื่อค้นหาคำตอบ วันหนึ่งในปี พ.ศ.2553 รศ.ดร.เรียมได้เดินทางมายังสำนักงานมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย เพื่อฟังจิตอาสาฉือจี้บรรยายถึงความเป็นมาของ “ฉือจี้” พร้อมทั้งการทำงานจิตอาสาของชาวฉือจี้ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปร่วมอบรมฉือจี้นานาชาติที่ไต้หวัน เป็นการเปิดโลกทัศน์ครั้งสำคัญ เพราะได้พบเห็นสิ่งที่ฉือจี้ทุ่มเททำอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การนำของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน

 

การแสดงภาษามือประกอบเพลงส่งเสริมคุณธรรม ตามวัฒนธรรมอันดีงามของฉือจี้ โดย รศ. ดร.เรียม ศรีทอง

และนักศึกษาภาคคณะวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในงานวันกตัญญุตา บูชาครู เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2554

 

 

“จากธรรมะพรหมวิหารสี่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สี่ข้อแค่นี้ ฉือจี้สามารถทำออกมาเป็นรูปธรรม และทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจว่า เราสามารถมีคุณค่ามากขึ้นได้ ถ้าเราทำแบบฉือจี้ให้มากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะไม่มีโอกาส แต่เมื่อได้มาสัมผัสประสบการณ์กับฉือจี้แล้ว ทำให้เรารู้ว่า เราก็มีสิ่งที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เหมือนกัน” รศ. ดร. เรียม บอกเล่าความเป็นมาของการตัดสินใจเข้ารับการอบรมกรรมการฉือจี้ จนรับรองวุฒิและรับคำอวยพรจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนในปี พ.ศ.2556

“ความรักทั่วฟ้าดิน” ของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ที่บอกว่าไม่มีใครที่ฉันไม่รัก ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย และความเคารพที่ฉือจี้มีให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ รศ. ดร. เรียม รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง และท่านยึดคำสอนของท่านธรรมาจารย์มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและทำงานจิตอาสา “ผลจากการไม่ใช้คำว่า ‘สงสาร’ ของฉือจี้นั้น น่าทึ่งมากเลย โดยฉือจี้ใช้ว่า ‘ความรัก’ เพราะก่อนนี้ เราจะบอกว่า ไปช่วยเหลือคนเพราะสงสารเขา พอสงสารเขาก็เหมือนกับมองเขาด้อยลงไป แล้วเราเหนือกว่า แต่ฉือจี้สอนและฝึกเราว่า เวลามอบสิ่งของให้ผู้อื่น ต้องยกให้ด้วยสองมือ พร้อมขอบคุณผู้รับ ทำให้เราเข้าใจว่า เราไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่หรอกนะ เราต้องคารวะขอบคุณเขา เพราะเรากำลังได้รับโอกาสในการทำดีจากเขา”

 

20110128-332-byhsufeng resize

 นำนักศึกษาก้าวเข้าไปดูแลผู้คนในสังคม ผ่านการเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

 


แม่พิมพ์แห่งรักอันยิ่งใหญ่ ถ่ายทอดจิตสาธารณะสู่ลูกศิษย์

แม้จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ทว่าหัวใจ “แม่พิมพ์ของชาติ” ยังคงไม่ยอมหยุดทำงาน ดร.เรียม จึงตอบรับคำเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เมื่อเชื่อมั่นว่าแนวคิดของฉือจี้ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ท่านจึงร่วมกับ รศ.ดร.ศุภวรรณ์ เล็กวิไล คณบดี วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดทำหลักสูตร “การเสริมสร้างจิตสาธารณะ” เพื่อปลูกฝังนักศึกษาทุกคนที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็น “ครู” ในอนาคตต่อไป

ในช่วงแรก รศ. ดร. เรียม ศรีทอง ได้เชิญจิตอาสาฉือจี้ไปเป็นวิทยากร อาศัยการแสดงภาษามือประกอบเพลงปลูกต้นไม้ ภาษามือประกอบ “พระสูตรกตัญญุตากตเวทิตาสูตร” ของฉือจี้ เป็นกุศโลบายเพื่อถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรมด้านความกตัญญูให้กับลูกศิษย์ ก่อนจะนำนักศึกษา ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

“บางครั้งเรื่องใกล้ตัวบางอย่าง นักศึกษาก็มองข้ามไป ไม่เคยคิดถึงเลย ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเรียนมามากจนถึงระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์สอนมาตั้ง 30 กว่าปีก็ตาม แต่เราก็ไม่เคยฝึกแบบนี้ เพราะเราไปฝึกเน้นเรื่องความรู้ เรื่องการ teaching แต่เราไม่ได้ให้นักศึกษาได้ learning หรือได้เรียนรู้กับชีวิตจริงๆ ประสบการณ์จริงๆ ซึ่งอันนี้ฉือจี้ให้เราเป็นอย่างมาก” รศ. ดร. เรียม บอกเล่าถึงความเป็นมา ของการนำวิธีการเรียนการสอนแบบฉือจี้มาปรับใช้

ครั้งแรกที่นักศึกษาจากวิทยาลัยการฝึกหัดครู ได้เดินทางไปร่วมเป็นจิตอาสากับฉือจี้ ณ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2554 โดย “ซัน” หนึ่งในนักศึกษาบอกเล่าความรู้สึกของตนเองว่า ขณะที่มอบการ์ดอวยพรให้กับผู้ป่วยท่านหนึ่ง เขาได้ถามว่า “คุณยายเป็นอย่างไรบ้างครับ” คุณยายก็ตอบว่า “ลูกหลานของป้าไม่เคยมาดูแลป้าเลย” ทำให้ซันสะเทือนใจเป็นอย่างมาก “วันนี้ผมได้เรียนรู้จากคุณยายท่านหนึ่งครับ ได้รับรู้ความรู้สึกของท่านที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล กับการที่เราต้องทิ้งให้แม่อยู่บ้านที่ต่างจังหวัดเพื่อมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แม่ก็คงจะคิดถึงเราเหมือนกับคุณยายท่านนี้” ซันกล่าว ก่อนจะได้รับคำแนะนำและปลอบโยนจากจิตอาสาฉือจี้ว่า การเรียนหนังสือเป็นความจำเป็น หากกลัวแม่เหงาหรือคิดถึง ก็ขอให้ตั้งใจเรียน ระหว่างนี้ให้หมั่นโทรศัพท์ไปสอบถามสารทุกข์สุกดิบ และหาโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนครอบครัวให้บ่อยเท่าที่เป็นไปได้

 

20130721-46-byming resize

ร่วมมอบความรักให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยความขอบพระคุณที่มอบโอกาสในการทำความดี

 

ถ่ายทอดประสบการณ์ แนะนำ “จิตสาธารณะ”

เมื่อเหล่านักศึกษา ในวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้รับการปลูกฝังจิตสาธารณะ จนเกิดความตระหนักและเข้าใจแล้ว พวกเขายังนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปถ่ายทอดสู่นักเรียน หรือน้องๆ ระหว่างการฝึกสอน ในสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา

นอกจากการดูแลผู้คนรอบตัวแล้ว รายวิชา “การเสริมสร้างจิตสาธารณะ” ยังได้ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย “เวลาที่พี่ไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ พี่ก็จะปฏิเสธคนขายว่าไม่เอาถุงพลาสติกนะคะ เพราะว่าพี่จะพกถุงผ้าไปด้วย แล้วเวลาพี่ไปมหาวิทยาลัย พี่ก็จะเอาแก้วน้ำติดตัวไปด้วย เวลาซื้อน้ำก็บอกคนขายว่า พี่คะ ใส่ในแก้วให้หนูเลยค่ะ” นางสาวอภิรักฤมณ เกษโมลี นักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร แบ่งปันกับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนไตรรัตนาภิรักษ์ ในกิจกรรมเสริมสร้างจิตสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2561 เพราะจิตสาธารณะมิใช่เพียงการช่วยเหลือผู้อื่น แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งต้องเริ่มต้นจากตนเองก่อน โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนบนโลกใบนี้

เหล่านักศึกษายังได้ออกแบบกิจกรรม เพื่อสอนให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากการสัมผัสความรู้สึก โดยนำขยะประเภทต่างๆ เช่น ถุงและขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ เป็นต้น มาวางไว้รอบตัว เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่า หากเราทุกคนยังใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คิดให้รอบคอบ ในวันข้างหน้าเราอาจจะต้องอาศัยอยู่บนกองขยะขนาดมหึมา ก่อนจะแนะนำวิธีการคัดแยกสิ่งของรีไซเคิลประเภทต่างๆ ให้กับน้องๆ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเราต่อไป

 

20131114 014 by ming resize

เดินทางกลับไปร่วมการอบรมค่ายจิตวิญญาณกรรมการและสัตยบุรุษฉือจี้นานาชาติ ประจำปี พ.ศ.2556

 

เสนอหลักสูตร อบรมครูเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ

เนื่องจาก ดร.เรียม เป็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ลูกศิษย์จึงอยู่ในช่วงวัยรุ่น “การสอนของฉือจี้ ควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ แต่นักศึกษาของเรา กว่าจะได้มาเรียนก็อายุปาเข้าไป 18-19 ปีแล้ว ซึ่งเขาสารภาพว่า เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยได้คิดถึงคนอื่นเท่าไร เขาไม่เคยรู้ว่า การแสดงความกตัญญูทำแบบนี้ก็ได้ เราเลยรู้สึกว่า โอ้โห เราสูญเสียเวลาในการปลูกฝังเด็กเล็กๆ ไปเยอะนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่สำคัญ”

นอกจากกำชับลูกศิษย์ ซึ่งจะจบออกไปเป็นครู ให้นำคุณธรรมที่ตนเองได้รับการปลูกฝังไปถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ในวัยเด็กเล็กแล้วในปี พ.ศ.2560 ดร.เรียม ศรีทอง ยังได้เขียนหลักสูตร “การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ” เสนอต่อสำนักงานพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จนผ่านการพิจารณา เป็นหนึ่งใน 1,400 กว่าหลักสูตร ให้คุณครูในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศได้เลือกเรียนรู้

ดร.เรียม ศรีทอง และจิตอาสาฉือจี้ จึงได้จัดอบรม “หลักสูตรการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ” ขึ้น 2 รุ่น ในปี พ.ศ.2560 โดยมีคุณครู 58 ท่าน จาก 21 โรงเรียนทั่วประเทศมาร่วมศึกษาเรียนรู้ หนึ่งในนั้นคือ คุณครูอำไพ สารีบท จากโรงเรียนอนุบาลประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ที่นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรม ไปต่อยอดกับลูกศิษย์ของตนเอง

 

DSC08166 resize

เข้ารับวุฒิกรรมการฉือจี้อย่างเป็นทางการใน ปี พ.ศ.2556

 

ส่งเสริมจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโลก

“โครงการขยะ” ในโรงเรียนอนุบาลประจันตคาม ซึ่งได้เริ่มผลักดันมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทว่ากลับไม่เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากขาดวิธีการที่ชัดเจนและทุกคนยังไม่ได้ตระหนักถึงจิตสาธารณะที่ต้องมีต่อสิ่งแวดล้อมโลก “เราเดินไปโรงอาหารทุกวันเลยนะคะ ซึ่งปกติเราไม่ไปหรอก มันไกล ร้อนด้วย แล้วพักกลางวัน เรามีงานเยอะเลย แต่เราก็ไป ไปเพื่อฝึกเด็กๆ ให้คัดแยกขยะ ทำอยู่ประมาณสองสัปดาห์ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน คือ ปริมาณขยะลดลง” แรงบันดาลใจที่ได้รับจากการอบรม และวิธีการคัดแยกสิ่งของรีไซเคิลที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทำให้คุณครูอำไพอาสาเป็นผู้ผลักดันการคัดแยกขยะในโรงอาหาร ก่อนจะมอบหมายให้สภานักเรียน ขับเคลื่อนการคัดแยกขยะเข้าสู่ห้องเรียนเป็นลำดับต่อไป

 

20170806-070-bylek resize

คุณครูผู้ร่วมอบรมในหลักสูตร “การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ”

ณ สถานธรรมจิ้งซือ สัมผัสความรู้สึกลำบากของการขาดแคลนน้ำในมณฑลกานซู่ ประเทศจีน เพื่อตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า

 

ด.ช.สุรสิทธิ์ ช่างกลึง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลประจันตคาม กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ถึงแนวคิดจิตสาธารณะเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมโลกว่า “การที่เราไม่แยกขยะนั้น เราก็เป็นคนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน แต่ถ้าเราคัดแยกขยะ ก็จะช่วยชะลอทำให้โลกร้อนช้าลง และเราก็จะยังดำรงชีวิตอยู่ได้ครับ” นอกจากการลงมือปฏิบัติในโรงเรียนเองแล้ว ด.ช.สุรสิทธิ์ยังนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม จาก “โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชน” เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ณ วัดทัพช้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจิตอาสาฉือจี้ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร กลับไปบอกต่อกับครอบครัวที่บ้านอีกด้วย

การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากฉือจี้มาต่อยอด ทำให้คุณครูอำไพเกิดความเชื่อมั่นว่านี่เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ทว่าการจะผลักดันเรื่องราวดีๆ นี้เพียงลำพังนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก จึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อเชิญจิตอาสาฉือจี้มาเป็นวิทยากร จนเกิดเป็น “การอบรมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ” ให้กับ ครู บุคลากร โรงเรียนอนุบาลประจันตคาม และ อบต.ประจันตคาม เมื่อวันที่ 6-8 พฤษภาคม พ.ศ.2561

 

20180506-024-bykitsadakorn resize

“การอบรมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ” แก่ ครู บุคลากร โรงเรียนอนุบาลประจันตคาม

และ อบต.ประจันตคาม โดย รศ. ดร.เรียม ศรีทอง ได้อธิบายวิธีการทำสมุดทำมือจากกระดาษรีไซเคิลแก่ผู้เข้าอบรม

 

เมื่อคุณครูลงมือทำ รุ่นพี่ลงมือทำ รุ่นน้องก็ลงมือทำตาม ทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้การผลักดันโครงการโรงเรียนสวยด้วยมือเรา ที่แบ่งนักเรียนตามกลุ่มสี เพื่อช่วยกันเก็บขยะและกวาดใบไม้ ในบริเวณพื้นที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ดำเนินไปอย่างราบรื่น “จากที่เรานำมาสอนเด็ก เริ่มจากในชั้นเรียนก่อน ปรากฏว่า เด็กๆ มีการพัฒนาด้านจิตอาสามากขึ้น สอนให้นักเรียนรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือ เสียสละ จากนั้นนักเรียนก็นำไปปรับใช้ ทำให้พี่สอนน้องได้ น้องก็เชื่อฟังพี่ เขาก็สามารถที่จะทำกิจกรรมกลุ่มของเขาได้เป็นอย่างดี โดยที่งานทุกอย่างสำเร็จ โรงเรียนก็สะอาดขึ้นค่ะ” คุณครูอภันตรี กมลวิบูรณ์ บอกเล่าถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการ การลงมือทำงานของนักเรียนด้วยสำนึกจิตสาธารณะ แม้จะไม่มีคำสั่งหรือคุณครูคอยกำกับควบคุมก็ตาม

 

20180515-057-byjanyaporn resize

“การอบรมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ” แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ.2561

จิตอาสาฉือจี้นำผู้เข้าอบรมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวที่ฉือจี้ให้การดูและระยะยาว พร้อมทั้งอาศัยภาษามือประกอบเพลงครอบครัวเดียวกัน เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขา

 

 ค้นพบความหมายของชีวิต จากการทำจิตอาสา “ฉือจี้”

ชีวิตนี้นอกจากจะเป็นคุณแม่ คุณย่า ของสมาชิกในครอบครัว เป็นคุณครูของลูกศิษย์แล้ว ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ ทำให้ รศ. ดร.เรียม ศรีทอง มุ่งมั่นว่า ตราบใดที่ยังมีเรี่ยวแรง จะไม่ยอมหยุดพักชีวิตจิตอาสา

“ถ้าเราเกิดมาแล้ว อยู่เฉยๆ เพื่อรอความตาย มันก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งๆ ที่ชีวิตมันมีคุณค่าของมันอยู่ เพียงแต่เรายังมองไม่เห็น ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราก้าวเข้าไปลงมือทำด้วยใจเอื้อเฟื้อที่เรามี เมื่อนั้นเราก็จะได้รู้สึกถึงความมีคุณค่าของชีวิต เป็นการรู้สึกขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้คาดหวังว่า เราจะต้องได้รับความสุขเป็นการตอบแทน” 

 

20180523-032-bynatchanok resize

นักเรียนโรงเรียนอนุบาลประจันตคาม เข้าร่วม “โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชน”

ณ วัดทัพช้าง จังหวัดปราจีนบุรี โดยเรียนรู้วิธีคัดแยกสิ่งของรีไซเคิล และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากจิตอาสาฉือจี้ 

 

 


เรื่อง  บุษรา สมบัติ         ภาพ  มูลนิธิพุทธฉือจี้