“ผู้ลี้ภัย” พำนักอาศัยโดยผิดกฎหมาย
แม้มีความสามารถ ก็มิอาจทำงานหาเลี้ยงชีพได้
ซ้ำยังเสี่ยงถูกจับกุมจำคุกได้ตลอดเวลา
ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากหนักหนา
มีเพียงความหวังเดียวที่พวกเขารอคอย
นั่นก็คือ “การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมชีวิตผู้ลี้ภัย มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมมอบสิ่งของบรรเทาความเดือดร้อนขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมอบถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ และเงินสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยซึ่งมาจาก 10 กว่าประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า 1,500 ครอบครัว อีกทั้งยังใส่ใจจัดเตรียมข้าวและแป้ง ให้เลือกรับได้ตามความคุ้นชินของพวกเขาอีกด้วย
ไหล่ซึ่งแบกรับความหวังของครอบครัว
“วันหนึ่ง ห่ากระสุนและระเบิดโปรยปรายราวกับสายฝน ทำให้พี่ชายของผมเสียชีวิต ส่วนน้องชายอีกคนได้รับบาดเจ็บ พ่อจึงพาน้องชายรักษาตัวที่ต่างประเทศ นับตั้งแต่วันนั้น พวกเขาก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย จนกระทั่งวันนี้ ก็ยังไม่รู้เลยว่า พวกเขาอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง”
“โอมาร์” วัย 31 ปี มาจากโซมาเลีย หนึ่งในประเทศของทวีปแอฟริกา ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองอยู่เนืองๆมาหลายสิบปี ทุกๆครั้งที่เกิดการปะทะ มักจะนำไปสู่ความสูญเสียเสมอ แม้แต่ชีวิตของประชาชนอันบริสุทธิ์ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ และสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครานั้น ก็ทำให้เขาสูญเสียคนในครอบครัว บ้านแตกสาแหรกขาดไปคนละทิศละทาง ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่เขาเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธ ดังนั้น เพื่อเอาชีวิตรอดจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ.2558 เขาจึงตัดสินใจหนีจากถิ่นฐานบ้านเกิด พร้อมกับ “ฮัมตา”ผู้เป็นภรรยา น้องชายภรรยา และลูกสาวอีก 3 คน
ชาวโซมาเลียที่ลี้ภัยจากบ้านเกิด ส่วนใหญ่จะเดินทางไปยังมาเลเซีย แต่ด้วยค่าครองชีพค่อนข้างสูง พวกเขาจึงลักลอบเข้าประเทศไทยตามชายแดน ผ่านกลุ่มคนลักลอบนำคนเข้าเมืองในเวลาต่อมา ซึ่งหากถูกจับกุมก็จะถูกเนรเทศกลับประเทศ และถูกยึดหนังสือเดินทาง ตอนนั้น โอมาร์เข้าใจผิดว่า “ไทยแลนด์” คือ “ฟินแลนด์” ประเทศในยุโรป จนกระทั่งเดินทางมาถึงประเทศไทย จึงรู้ว่าตนอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อยู่ประเทศไทยได้เพียง 11 วัน พวกเขาก็ถูกจับในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่มีหนังสือเดินทาง แม้ว่าภายหลังพวกเขาได้รับการประกันตัวจากชาวมุสลิมคนหนึ่ง ทว่า พวกเขายังคงอยู่ในสถานะพำนักอาศัยในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม พวกเขาจะต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ ไม่ออกจากบ้านหากไม่จำเป็น เมื่อออกจากบ้านก็ต้องคอยระวังหน้าระแวงหลัง และไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมายได้ ดังนั้น การชีวิตในเมืองไทยจึงมิใช่เรื่องง่ายนัก
ช่วยเหลือด้วยการทำงาน แปลภาษาช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัย
แม้พวกเขาจะได้รับเงินช่วยเหลือจาก BRC (Bangkok Refugee Center;BRC) ในทุกๆเดือน แต่ก็เพียงพอสำหรับค่าเช่าห้องเท่านั้น โอมาร์ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว จึงต้องหาหนทางทำงานหาเลี้ยงครอบครัวภายใต้ข้อจำกัดของสถานะผู้ลี้ภัย โดยเขาทำงานเป็นล่ามแปลภาษาที่ BRC และต่อมายัง ปี พ.ศ.2560 เขาได้มาทำงานเป็นล่ามแปลภาษาในกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี อันเป็นจุดเริ่มต้นของบุญสัมพันธ์ระหว่างโอมาร์และฉือจี้
ล่ามแปลภาษาช่วยเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ลี้ภัยรับบริการในกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี
ระหว่าง พ.ศ. 2558-2561 มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี เพื่อให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัย โดยจัดขึ้นเดือนละหนึ่งในวันอาทิตย์ที่ 4 ของทุกเดือน
ผู้ลี้ภัยที่มารับบริการด้านการแพทย์ในกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรี มาจากหลากหลายประเทศ ดังนั้นภายในกิจกรรมนอกจากมีบุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสา คอยให้บริการผู้ป่วยแล้ว จิตอาสายังอาศัยรูปแบบ “การช่วยเหลือด้วยการทำงาน” ให้ผู้ลี้ภัยที่มีความสามารถด้านภาษา ช่วยเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย โดยให้ค่าตอบแทนสำหรับนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ดูแลใส่ใจ ราวกับ “ครอบครัวเดียวกัน” พ.ศ. 2560 ฉือจี้ในเมืองไทยช่วยสงเคราะห์ค่าคลอดบุตรให้กับโอมาร์และภรรยา โดยมีคุณกวอเหมยจวิน เป็นตัวแทนจิตอาสาฉือจี้ เดินทางไปเยี่ยมเยียนและอวยพร พร้อมทั้งดำเนินการยื่นเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง
คุณกวอเหมยจวิน ผู้ประสานงานกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี ในขณะนั้นแบ่งปันว่า “ครอบครัวโอมาร์มีสมาชิก รวม 7 คน ได้แก่ ภรรยา ลูกสาว 3 คน ลูกชายซึ่งเพิ่งคลอดอีก 1 คน ภรรยา และน้องชายภรรยาซึ่งป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม จะเห็นว่าเขาแบกรับภาระหนักมาก ดังนั้น เราก็เลยพยายามให้เขามาช่วยงานล่ามแปลภาษาบ่อยๆ ซึ่งตอนนั้นเราจัดกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรีอยู่ เราก็จะให้เขามาทำงานล่ามแปลภาษา เพราะเรารู้ว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวเขาเยอะ และลำบากกันมากเลยค่ะ”
การทำงานล่ามแปลภาษา ทำให้โอมาร์พอมีรายได้จุนเจือครอบครัว บรรเทาความลำบากขัดสนได้บ้าง ทว่า บททดสอบชีวิตครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง พ.ศ.2561 โอมาร์ถูกจับกุมไปกักขังที่ IDC (Immigration Detention Center) ตอนนั้นเขาเป็นห่วงครอบครัวมาก เพราะเมื่อเขาถูกจับ ภรรยาจะต้องรับภาระทุกอย่าง ทั้งเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสามที่ยังอยู่ในวัยเด็กซุกซน ลูกชายที่ยังอยู่ในวัยทารก และดูแลน้องชายซึ่งไม่ได้ปกติเหมือนคนทั่วไป เมื่อขาดสามีผู้เป็นเสาหลักแล้ว ภรรยาจะรับมือกับความลำบากเพียงลำพังได้อย่างไร ยากนักที่จะจินตนาการได้
ดังนั้น 1 วันก่อนจะถูกจับกุมเข้าสู่ห้องขังของ IDC โอมาร์จึงติดต่อมายังคุณกวอเหมยจวิน พร้อมทั้งฝากฝังให้ช่วยดูแลครอบครัวของเขา เมื่อได้ฟังเรื่องราวของคุณโอมาร์แล้ว คุณกวอเหมยจวินจึงรีบประสานไปยังคุณสุชน แซ่เฮง คุณพงษ์พจน์ พัชรภักดีกำธร และคุณสุนันทา แซ่เส ซึ่งเป็นจิตอาสาฉือจี้ที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ ให้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป สำหรับโอมาร์นั้น หลังแจ้งเรื่องกับคุณ-กวอเหมยจวิน ผ่านไปแค่วันเดียว ก็ไม่สามารถติดต่อเขาได้แล้ว
ในช่วงเวลาที่โอมาร์ถูกคุมขังที่ IDC จิตอาสาฉือจี้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ รับดูแลระยะยาว โดยในแต่ละเดือนจิตอาสาฉือจี้จะเดินทางไปเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งมอบสิ่งของและเงินสงเคราะห์ให้กับพวกเขา เพื่อให้ฮัมตา (ผู้ที่ยืน) มีกำลังใจดูแลครอบครัว
จิตอาสารับไม้ต่อเป็นอย่างดี เดินทางไปเยี่ยมบ้านสำรวจความเป็นอยู่ในวันถัดไป พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลระยะยาวอย่างเร่งด่วน คุณพงษ์พจน์ พัชรภักดีกำธร แบ่งปันว่า “เราได้รับการเสนอเคสคุณฮัมตา ชาวโซมาเลีย เพราะว่าสามีเธอถูกจับกุม ถูกกักขังในIDC เธอจึงต้องดูแลลูก 4 คน และน้องชายซึ่งป่วยเป็นดาวน์ซิมโดรมเพียงคนเดียว ฉือจี้จึงให้ความช่วยเหลือเธอ โดยแต่ละเดือนจะมอบข้าวสาร นมผงและเงินสงเคราะห์ครับ”
การช่วยเหลือของฉือจี้อย่างทันท่วงที ทำให้ฮัมตา ภรรยาของโอมาร์ รู้สึกซาบซึ่งใจเป็นอย่างยิ่ง “ฉือจี้มาช่วยเหลือพวกเราในวันนั้น มันเป็นวันที่สวยงามที่สุดในชีวิตเลยค่ะ ฉันดีใจมากๆ รู้สึกว่าเหมือนกับว่า ฉันได้เกิดใหม่อีกครั้ง”
มุ่งเดินทางไกล สู่ชีวิตใหม่ที่งดงาม
ตุลาคม 2563 จากการช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ทำให้โอมาร์ได้รับการปล่อยตัวออกมา ระยะเวลา 2 ปีที่เขาถูกคุมขังใน IDC เขาและครอบครัวไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เลย เมื่อได้รับอิสระและพบว่าครอบครัวอยู่ดีมีสุขภายใต้การดูแลของฉือจี้ โอมาร์ก็รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง เขาแบ่งปันความรู้สึกว่า “ฉือจี้จะอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป ไม่มีวันลืมเลยครับ”
โอมาร์และครอบครัว อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 7 ปี ปีนี้พวกเขาผ่านการพิจารณาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และถูกจัดสรรให้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศแคนาดา เมื่อได้รับข่าวดีเช่นนี้แล้ว จิตอาสาฉือจี้จึงเดินทางไปแสดงความยินดี พร้อมทั้งเรี่ยไรเครื่องนุ่งห่มกันหนาวจากผู้ใจบุญไปมอบให้กับพวกเขา เพื่อเป็นอีกหนึ่งในน้ำใจที่แสดงให้เห็นว่า แม้พวกเขาจะอยู่เมืองหนาวในแดนไกล แต่ความรักของฉือจี้จะทำให้พวกเขาอบอุ่นเสมอ
จิตอาสาเดินทางไปแสดงความยินดีกับครอบครัวโอมาร์ ซึ่งกำลังจะเดินทางไปอาศัยที่แคนาดา พร้อมทั้งอวยพรให้กับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขา
3-4 ปีที่ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลลครอบครัวโอมาร์ ก็ทำให้คุณพงษ์พจน์รู้สึกปลาบปลื้มใจ เพราะด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาทำงานเลี้ยงชีพได้อย่างถูกกฎหมาย ชีวิตความเป็นอยู่จึงยากลำบาก “เมื่อพวกเขามีโอกาสได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม ได้ใช้ชีวิตใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผมรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คุ้มค่ามากๆครับ” ส่วนโอมาร์ ก็แบ่งปันความรู้สึกว่า “เมื่อผมไปอยู่แคนาดาแล้ว ผมก็จะตั้งใจทำงานครับ และหวังว่าจะได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น เหมือนกับฉือจี้ทำครับ”
โควิดไม่อาจขวางกั้นความรักของฉือจี้ จิตอาสาอวยพรอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ ขอให้โอมาร์และครอบครัวหายป่วยในเร็ววัน
เดิมทีครอบครัวของโอมาร์จะเดินทางไปแคนาดาในวันที่ 24 มีนาคม 2565 ทว่า พวกเขากลับตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด จึงต้องเลื่อนการเดินทางออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม และในระหว่างนี้ จิตอาสาฉือจี้ได้นำชุดยาปันรัก ผงธัญพืช ชาสมุนไพรจิ้งซือ ไปมอบให้พวกเขาใช้รักษาอาการ ทั้งยังจัดสรรให้พวกเขาพบแพทย์ในคลินิกเวชกรรมพุทธฉือจี้ ผ่านการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขาจะฟื้นฟูร่างกายได้ในเร็ววัน ซึ่งปัจจุบัน พวกเขามีอาการดีขึ้น และมีผลตรวจเป็นลบแล้ว
ฉือจี้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวโอมาร์ ตั้งแต่ มกราคม 2561 ถึง มกราคม 2565 แม้ปัจจุบันจะยุติการให้ความช่วยเหลือ และพวกเขากำลังเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแดนไกลแล้ว ทว่า บุญสัมพันธ์อันดีนี้ยังคงอยู่ตลอดไป
เรื่อง ดรรชนี สุระเทพ ภาพ พิณญ์ธิชา จันทร์สุขศรี,รัตนโชติ ประมวลทรัพย์,สิงหราช ชวนชม