เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ขยายหัวใจด้วยรักอันยิ่งใหญ่

951231-2 19951231 resize

คุณเคยรู้สึกไม่พอใจกับชีวิตตัวเองมั้ย เคยทุ่มเทความคิดจิตใจไปกับการกังวลห่วงใยสมาชิกในครอบครัวตัวเองหรือไม่ บางครั้งที่รู้สึกว่าหาทางออกไม่เจอ ทำให้แต่ละวันผ่านพ้นไป

อย่างไม่มีความสุข เมื่อก้าวเข้ามาเป็นจิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล ค้นพบคำตอบให้ตัวเองได้อย่างไร จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิต จนได้เข้าใจถึงหลักการของความเป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์

 

 


1
ความรัก ชักนำให้เกิด “บุญสัมพันธ์”


เมื่อบุญสัมพันธ์ลึกซึ้ง ย่อมไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะมีบุญสัมพันธ์ต่อกันจึงได้ก้าวเข้ามาใน “ฉือจี้” ในช่วงแรกเริ่มของการผลักดันภารกิจฉือจี้ในประเทศไทยซึ่งปัจจัยและบุคลากรจำกัด แต่ด้วยความรักของเหล่านักธุรกิจชาวไต้หวันในไทยจำนวนหนึ่งกับผู้มีจิตเมตตา ที่ผนึกกำลังร่วมกันผลักดันงานการกุศล ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากในสังคมไทย คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล เป็นหนึ่งในจิตอาสาผู้ริเริ่มผลักดันฉือจี้ในเมืองไทย

 

คุณมนภรณ์ซึ่งเป็นชาวไต้หวัน ได้แต่งงานกับคนไทยเชื้อสายจีนและย้ายมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ก่อนจะมีบุตรชายและบุตรสาวเป็นพยานรัก ได้บอกเล่าถึงบุญสัมพันธ์ของตนกับฉือจี้ว่า “ประมาณ พ.ศ. 2533 เนื่องจากสามีฉันเดินทางไปทำธุรกิจที่ไต้หวัน แล้วลูกค้าก็ชวนให้ไปเยี่ยมชมสมณารามจิ้งซือที่ฮวาเหลียน ตอนนั้นเขาได้รับจุลสารแนะนำฉือจี้และซื้อเทียนไขไร้น้ำตากลับมาให้ฉันที่เมืองไทย ก่อนจะบอกว่า ดูจากบุคลิกของฉันแล้วน่าจะชอบองค์กรนี้ ตอนนั้นฉันก็ยังไม่ได้ใส่ใจอะไร ผ่านไปสักพักหนึ่ง ฉันต้องเดินทางไปส่งลูกสาวเรียนหนังสือต่อที่อเมริกา เลยหยิบจุลสารแนะนำฉือจี้ซึ่งเป็นหนังสือภาษาจีนเพียงเล่มเดียวที่ฉันมีติดมือไปด้วย คาดไม่ถึงว่ามันจะทำให้ฉันอ่านไปด้วยร้องไห้ไปด้วยตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน ทุกตัวอักษรในจุลสารเล่มนั้นทำให้ฉันซาบซึ้งใจมาก ในใจก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้หรือที่มีบุคคลและองค์กรแบบนี้อยู่บนโลกของเรา ฉันร้องไห้แบบควบคุมตัวเองไม่ได้อยู่บนเครื่องบินอยู่นานมาก เมื่อถึงจุดหมายปลายทางทราบมาว่าที่นั่นก็มีฉือจี้ เดิมทีฉันอยากจะแวะเข้าไปเยี่ยม แต่ก็พลาดโอกาสนั้นไป” คุณมนภรณ์ บอกเล่าเรื่องราวของการอ่านจุลสารแนะนำฉือจี้ และประทับใจในเนื้อหาเรื่องกระปุกออมบุญ การเริ่มต้นภารกิจฉือจี้ด้วยเงินเพียง 50 สตางค์และเรื่องราวของภิกษุณีผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน

 

เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณมนภรณ์ก็ยังหวังว่าจะได้มีโอกาสมาร่วมเป็นจิตอาสากับฉือจี้สักวันหนึ่ง ต่อมาหลังจากบุตรชายคนเล็กเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์ วันหนึ่งขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาจีนตามปกติ ก็พบข่าวสารว่าจะมีชาวฉือจี้จากไต้หวันเดินทางมาดำเนินโครงการสงเคราะห์ภาคเหนือของไทยเป็นระยะเวลาต่อเนื่องสามปี คุณมนภรณ์จึงรีบโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักพิมพ์ ชี้แจ้งว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันที่สื่อสารภาษาไทยและขับรถได้ แม้จะเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา แต่หากชาวฉือจี้ต้องการความช่วยเหลือ ตนเองก็พร้อมให้การสนับสนุน

 

page 9p9leftside resize                                             

                                               โครงการสงเคราะห์ภาคเหนือของไทยต่อเนื่องสามปี จิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล ได้มีโอกาสติดตามผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เพื่อจัดการอบรมให้ความรู้ด้าน

                                               การเกษตร พร้อมทั้งมอบต้นกล้าชาและผลไม้ต่างๆ

 

2
แปรเปลี่ยนความซาบซึ้งใจเป็นการลงมือทำ


พ.ศ.2537 คุณมนภรณ์ได้มีโอกาสพบปะกับชาวฉือจี้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ทุกคนต่างนัดหมายเดินทางไปยังโรงงานของจิตอาสาท่านหนึ่ง ตอนนั้นสามีอาสาขับรถไปส่ง เมื่อไปถึงหน้าประตูโรงงาน ก็ได้ยินเสียงพูดคุยกันดังมาก สามีจึงหันกลับมาถามคุณมนภรณ์ว่า  “ลองคิดใหม่มั้ย ว่าจะเข้าไปหรือเปล่า”  เนื่องจากคุณมนภรณ์เป็นคนที่ค่อนข้างอ่อนต่อโลก ไม่มีประสบการณ์ทางสังคม สามีจึงเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ แต่ “ธรรมะ” ของท่านธรรมาจารย์ เป็นสิ่งที่ดึงดูดคุณมนภรณ์ ครั้นแล้วจึงยืนหยัดที่จะก้าวเข้าไป พบว่าทุกคนต่างกำลังปรึกษาหารือกันถึงแนวทางการหางบประมาณเพื่อผลักดันงานภารกิจฉือจี้ โดยมีผู้เสนอให้เย็บกระเป๋าผ้าจำหน่ายเพื่อการกุศล บางคนก็สนับสนุนเงินทุน บางคนก็สนับสนุนวัตถุดิบ บางคนก็สนับสนุนกำลังคนในโรงงานของตนเอง เป็นต้น เหตุการณ์นี้ทำให้คุณมนภรณ์ประทับใจมาก เพราะทุกคนล้วนมีจิตเมตตา ทว่าในตอนนั้นก็มีคนสอบถามขึ้นมาว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบทำบัญชีรายรับรายจ่าย แม้คุณมนภรณ์จะไม่เก่งเรื่องตัวเลข แต่เมื่อลองถามตัวเองว่า ในเมื่อทุกคนต่างพร้อมใจกันออกทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์ แล้วจะชะงักลงเพียงเพราะไม่มีคนช่วยดูแลบัญชีอย่างนั้นหรือ มันน่าเสียดายเกินไปหรือเปล่า ครั้นแล้วคุณมนภรณ์จึงอาสาขอเป็นผู้ดูแลงานด้านบัญชี

 

คุณมนภรณ์เล่าว่า ตอนแรกที่เข้ามาฉือจี้ไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาทำความดีหรือทำบุญอะไร แต่เข้ามาด้วยความคิดที่เห็นแก่ตัวนิดหนึ่งคือ เมื่อลูกๆ เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศกันหมด ทำให้คนเป็นแม่ที่เคยมีกิจวัตรทุ่มเททำเพื่อลูกเพียงอย่างเดียวชะงักลงอย่างกะทันหัน ทำให้รู้สึกเคว้งคว้างเป็นอย่างมาก โดยเล่าว่า “ลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกาจะโทรศัพท์กลับมาหาฉันทุกเย็นวันเสาร์ หากเสาร์ไหนลูกโทรฯ กลับมาช้าสักหน่อย เมื่อรับสายแล้วฉันก็จะเริ่มบ่นใส่เธอชุดใหญ่ แม้ตอนนั้นค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะแพงมาก แต่สิ่งที่เราพูดคุยกันกลับมีแต่เรื่องที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สบายใจ” เนื่องจากการทุ่มเทความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างไปที่ตัวลูกทั้งหมด ทำให้ไม่เพียงแต่สร้างแรงกดดันให้กับทั้งลูกสาวลูกชาย แม้แต่ตัวคุณมนภรณ์เองก็เต็มไปด้วยความทุกข์


9509007-8 199510 resize เดือนตุลาคม พ.ศ.2538 จิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล ไปเยี่ยมเยียนดูแลเด็กๆ ด้อยโอกาส ณ วัดโบสถ์วรดิตถ์ จังหวัดอ่างทอง

 

หลังจากได้เข้ามาเป็นจิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสวัดโบสถ์วรดิตถ์ จังหวัดอ่างทอง ตอนนั้นมีเด็กๆ อายุตั้งแต่ 2 – 10 กว่าขวบ อาศัยอยู่ในวัดนับร้อยคน ทุกคนนอนรวมกันอยู่ในห้องแคบๆ เพียงห้องเดียว โดยหันหัวชนกันบนพื้นปูนเก่าๆ ที่ไม่มีแม้กระทั่งเบาะนอน เป็นภาพที่เห็นแล้วสะเทือนใจมาก ครั้งแรกที่ไปยังได้มีโอกาสเข้ากราบท่านเจ้าอาวาส พระครูวุฒิธรรมาทร ระหว่างนั้นก็ได้ยินเด็กๆ ตีถ้วยให้มือของตัวเองเสียงดังสนั่น ท่านเจ้าอาวาสจึงบอกว่า “เด็กๆ หิวข้าวแล้ว” เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้เด็กๆ ส่วนใหญ่ได้กินข้าวเพียงวันละมื้อ นานๆ ครั้งจึงจะได้กินสองมื้อ อาหารส่วนมากก็เหลือมาจากตลาดสดซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง บางครั้งหากไม่มีอาหารแหลือ เด็กๆ ก็ต้องนำข้าวสวยไปเปิดก็อกเติมน้ำลงไปแล้วก็กินทั้งๆ อย่างนั้น

 

เนื่องจากห่วงใยเด็กๆ กลุ่มนี้ ดังนั้นเมื่อผ่านมติที่ประชุมของจิตอาสาฉือจี้ในเมืองไทยแล้ว จึงได้เริ่มจัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนดูแลเด็กๆ ณ สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสวัดโบสถ์วรดิตถ์เป็นประจำทุกเดือน โดยระหว่างนี้ ทำให้คุณมนภรณ์ได้เข้าใจถึงความแตกต่างของความหมายคำว่า “ความรักส่วนตัว” กับ “ความรักอันยิ่งใหญ่” โดยกล่าวว่า “ท่านธรรมาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า หากใจเราแคบและบรรจุไว้แค่ลูก พ่อแม่ หรือคนที่เรารักเท่านั้น ทำให้ทุกคนมีขนาดตัวที่ใหญ่มาก แม้พวกเขาจะขยับตัวเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้หัวใจของเราเจ็บปวดได้ แต่หากเราลองเปิดใจให้กว้างขึ้น เพื่อบรรจุเด็กๆ และพ่อแม่ของคนจำนวนมาก เมื่อนั้นลูกๆ และพ่อแม่ของเราเองก็จะมีขนาดตัวเล็กลงไปโดยปริยาย ไม่ว่าพวกเขาจะขยับอย่างไรเราก็จะไม่รู้สึกเจ็บแล้ว” ในตอนนั้น คุณมนภรณ์ใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการคิดกิจกรรมและหาคนมาร่วมงาน ทำให้บ่อยครั้งลืมไปว่าเป็นวันเสาร์ที่ลูกสาวจะโทรศัพท์กลับมาหา

 

20090815-2155-Byxiaolian resizeกิจกรรมสำนึกคุณบุพการี ณ วัดโบสถ์วรดิตถ์ จังหวัดอ่างทอง จิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล ช่วยซับน้ำตาแห่งความตื้นตันใจให้กับเด็กๆ

 

3
เปลี่ยนตัวเองให้เป็น “น้ำ” เข้าสู่ใจทุกผู้คน


คุณมนภรณ์คนที่ค่อนข้างเกรงอกเกรงใจง่ายและปฏิบัติกับทุกคนด้วยมารยาทมาตลอด ทว่าคนเราย่อมมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป คุณมนภรณ์บอกเล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้รับจากฉือจี้ คือ อันดับแรกได้มีโอกาสเรียนรู้ สองคือได้มีโอกาสเสียสละเพื่อสังคม อาศัยกระบวนการนี้เพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดียิ่งขึ้น คำสอนจากคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรตอนหนึ่ง ทำให้คุณมนภรณ์ได้เข้าใจว่า ผู้คนก็เหมือนเม็ดทรายนับแสนล้านในแม่น้ำคงคา พุทธธรรมเหมือนน้ำในแม่น้ำ ห้วย ลำธาร ทะเลสาบ เป็นต้น หากเรารู้จักเปลี่ยนตัวเองให้เป็นน้ำ ก็จะสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ต่างๆ นานาและสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

 

คุณมนภรณ์กล่าวต่ออีกว่า “กว่าฉันจะเข้าใจในความหมายของพระสูตรบทนี้ ก็เมื่อเกิดอุปสรรคบางอย่างในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ต้องขอขอบคุณจิตอาสาฉือจี้ คุณกมลรัตน์ แซ่กัว ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจในธรรมะข้อนี้ มีครั้งหนึ่งฉันทักทายเธอแบบเป็นทางการมาก แต่เธอกลับหันมาทักทายฉันแบบเป็นกันเองด้วยการพูดหยอกล้อ ผ่านไปหลายครั้ง ทำให้ฉันคิดได้ว่า ตัวเองน่าจะต้องทำตัวให้เหมือนน้ำ ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างให้เข้ากับภาชนะหรือลักษณะนิสัยของผู้อื่นได้ วันหนึ่งเมื่อฉันมีโอกาสได้พบกับคุณกมลรัตน์อีกครั้ง จึงลองเข้าไปตบบ่าทักทายด้วยการหยอกล้อดูบ้าง คิดไม่ถึงเลยว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราเลยสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้ฉันได้มีโอกาสผูกบุญสัมพันธ์กับทุกคน เป็นคนที่เข้ากับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ทั้งกับการทำงานในฉือจี้และการอยู่กับครอบครัว ไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยพบเจออุปสรรคมากเหมือนกับเมื่อก่อนค่ะ”


19951205 resizeจิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล (สวมเสื้อกั๊ก) เข้าร่วมกิจกรรมมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทางภาคเหนือของไทย

 

4
จุดเปลี่ยนชีวิต เรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์


คุณมนภรณ์ในวัย 40 กว่าปี ได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หลังจากเข้ามาฉือจี้ ผ่านบททดสอบสำคัญคือ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะในช่วงแรกเริ่มของการทำงานฉือจี้ มีกำลังจิตอาสาจำนวนไม่มาก แต่ละคนล้วนมีเงื่อนไขความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี ไม่เพียงทุ่มเทกำลังทรัพย์แต่ยังอุทิศกำลังกาย อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็ยังมีความคิดเห็นและวิธีการของตัวเอง ดังนั้น เมื่อทำงานฉือจี้ไปสักระยะ จึงเกิดความผยองขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวว่า เราเป็นคนดีหรือเป็นคนเก่ง ส่งผลให้บางครั้งเผลอพูดหรือทำอะไรลงไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่น ดังนั้น จึงไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของอีกฝ่ายได้ ต่อมาจึงได้ยินคำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่บอกว่า “การเป็นผู้นำ หากมองย้อนกลับไปแล้ว ไม่มีคนเดินตามหลังมา ก็เป็นคนที่แสนโดดเดี่ยว เมื่อตนเองเคยผ่านมา เคยร้องไห้ เคยหยิ่งผยองจนเกินไป ทำให้ค่อยๆ ตระหนักว่าถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว”

 

คุณมนภรณ์บอกเล่าต่ออีกว่า “ข้อดีที่สุดของการเข้ามาเป็นจิตอาสาฉือจี้ คือ ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนที่ดียิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือได้มาบำเพ็ญตน ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีในฉือจี้ของฉันพบว่า ขอเพียงยังยืนหยัดอยู่บนเส้นทางฉือจี้ ไม่ว่าใครก็ล้วนมีพัฒนาการทั้งสิ้น จากแรกเริ่มก็เหมือนฉันนี่แหละ คืออยากทำสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงผู้อื่น แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง จึงพบว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงก็คือตัวเราเอง เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา คนรอบตัวของเราก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นี่คือสิ่งที่ฉันรู้สึกว่าฉือจี้แตกต่างจากที่อื่น นอกจากธรรมะของพระพุทธองค์แล้ว ก็คือคุณธรรมของท่านธรรมาจารย์ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือญาติธรรมชาวฉือจี้ทุกคน การที่เราสามารถปรับปรุงตัวเองได้ ก็ต้องขอบคุณชาวฉือจี้ทุกคนด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะสวมบทบาทอะไร แต่ทุกบทบาทล้วนเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้”

 

0211H3-18 resizeจิตอาสาฉือจี้ คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล (ขวา) ร่วมดูแลอดีตทหารคณะชาติสูงอายุ ณ บ้านพักคนชราบ้านใหม่หนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

5
หยุดการพร่ำบ่น เปลี่ยนเป็น “ขอบคุณ”


คุณมนภรณ์ได้เล่าถึงประสบการณ์การไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ยากไร้เป็นครั้งแรก คือ คุณยายซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านไม้ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จย่านสำเพ็ง เยาวราช โดยอาศัยการเก็บสิ่งของรีไซเคิลขายยังชีพ มีบุตรชายและบุตรสาวรวม 2 คน แต่บุตรสาวมีความบกพร่องทางสติปัญญา บุตรชายก็สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง สภาพแวดล้อมภายในบ้านทั้งมืดและเลอะเทอะไปด้วยข้าวของที่ไม่มีประโยชน์

20190808                                                             จิตอาสาฉือจี้เข้าไปดูแลคุณยายหลี่ชิวเซียง ผู้ยากไร้ครอบครัวแรกที่จิตอาสาฉือจี้ในเมืองไทยเริ่มให้การดูแลระยะยาว จนคุณยายเกิดความซาบซึ้ง

                                                            นำเงินสงเคราะห์ของตนบริจาคกลับคืนให้ชาวฉือจี้ เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่ยากลำบากคนอื่นต่อไป


ชาวฉือจี้หมั่นไปเยี่ยมเยียน มอบเงินสงเคราะห์และสิ่งของช่วยเหลือ สร้างความซาบซึ้งใจให้กับคุณยาย ภายหลังท่านจึงเกิดจิตศรัทธานำเงินที่ฉือจี้มอบให้บริจาคกลับคืนให้จิตอาสา เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่ยากลำบากเหมือนเช่นคุณยายต่อไป ในช่วงแรกของการทำงานสังคมสงเคราะห์ คุณมนภรณ์เล่าว่ามักจะเจอกรณีแบบคุณอยู่เสมอ ที่แม้จะขัดสนเงินทองแต่กลับร่ำรวยน้ำใจ ดังนั้น จึงเป็นกำลังใจให้จิตอาสาฉือจี้ ทุ่มเททำงานยื่นมือออกไปช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากในสังคมต่อไป

 

 การทำงานฉือจี้ ที่ได้ดูแลผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคมจริงๆ ทำให้คุณมนภรณ์ซึ่งเคยไม่พึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง เรียนรู้ที่จะหยุดการพร่ำบ่น เปลี่ยนเป็น “ขอบคุณ” โดยเล่าว่า “ก่อนเข้ามาฉือจี้ ฉันเอาแต่พร่ำบ่นไม่หยุด โทษฟ้าว่าดินอยู่เสมอ ในใจก็คิดว่าชาติก่อนฉันคงติดหนี้สามีเอาไว้เยอะมาก ชาตินี้เลยต้องมาใช้หนี้ให้เขา แล้วก็ภาวนาว่าชาติหน้าขอให้อย่าพบเจอกันอีก แต่ว่าเมื่อเข้ามาทำงานจิตอาสาฉือจี้ได้สักสามปี ได้ไปดูแลผู้ยากไร้ ได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่น จนเข้าใจความสุขของตนเอง จึงได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองโชคดีมาก แม้จะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่อย่างน้อยสามีก็มอบชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงให้กับฉัน แม้จะไม่ได้ร่ำรวยมากมายแต่สถานะความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ฉันจึงรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ” คุณมนภรณ์ บอกเล่าถึงความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อสามี อีกทั้งขอบคุณการเคียงข้างและสนับสนุนในการทำจิตอาสาฉือจี้มาโดยตลอด โดยสามีเคยพูดเล่นว่า เขาได้รับหลายบทบาทเพื่อเคียงข้างภรรยาในการทำงานฉือจี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งตู้กดเงินสนับสนุนปัจจัยในการทำงาน เครื่องนวดคลายความเหนื่อยล้าทางร่างกาย คนขับรถช่วยบริการรับส่งในการเดินทางไปที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งพ่อครัวเตรียมอาหารเมื่อหน้าที่นี้ขาดคนรับผิดชอบ เป็นต้น


คุณมนภรณ์เล่าว่า การก้าวเข้ามาใน “ฉือจี้” แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่การทำความดี หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า เพราะตัดสินใจมาทำฉือจี้ จึงได้มีโอกาสเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เพื่อปรับปรุงพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และได้ผูกบุญสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก ได้ขอบคุณทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ ทุกสถานที่ จนสามารถขยายพื้นที่ในหัวใจของตัวเองให้กว้างยิ่งขึ้น รู้จัก “เปลี่ยนความรักส่วนตัวเล็กๆ ให้เป็นความรักอันยิ่งใหญ่” “เปลี่ยนการพร่ำบ่นให้เป็นการขอบคุณ” อีกทั้งได้เข้าใจถึงสัจธรรมของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

 


เรื่อง บุษรา สมบัติ   ไช่ชิวหลิง         ภาพ ฉือจี้ประเทศไทย  บุษรา สมบัติ