ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ทำปัจจุบันให้ดี ยืนหยัดตราบนานเท่านาน คุณลัดดา เจริญสวัสดิชัย

img468 resize

 

เมื่อก้าวเข้ามาใน “ฉือจี้” ชีวิตก็แตกต่างไปจากเดิม
 
“ฉือจี้ไต้หวันมาทำงานสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ภาคเหนือของไทย คุณจะไปช่วยด้วยไหม” ในวันหนึ่ง ของปี พ.ศ.2538 คุณแอนดี้ หวง ชาวไต้หวันซึ่งเดินทางมาลงทุนทำ ธุรกิจที่ประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2515 ได้แจ้งข่าวเกี่ยวกับ “ฉือจี้” ซึ่งทราบจากคุณจ้าวอวี้หมิง ประธานบริษัทหนังสือพิมพ์สากลในขณะนั้น ให้กับภรรยา คุณลัดดา เจริญสวัสดิชัย “สมัยนั้น ฉันเดินทางกลับไปไต้หวัน และรู้จักท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนกับฉือจี้ ผ่านรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ดังนั้นเมื่อคุณแอนดี้เล่าว่า ชาวฉือจี้มาที่ภาคเหนือของไทยแล้ว ฉันจึงไม่ลังเลใจเลย ตัดสินใจเดินตามรอยเท้าของชาวฉือจี้ทันที” คุณลัดดาซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ทว่างานบ้านทั้งหลายก็มีคนงานคอยช่วยเหลือ เคยรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า  แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา ด้วยการสนับสนุนของ คุณแอนดี้ หวง ผู้เป็นสามี คุณลัดดาจึงเริ่มทุ่มเททำงานฉือจี้ ก้าวเดินบนวิถีพระโพธิสัตว์
 
นับตั้งแต่ พ.ศ.2515 เป็นต้นมา  เมื่อคุณลัดดาเดินทางมายังเมืองไทยครั้งแรก ก็รู้สึกคุ้นเคยกับเมืองไทยเป็นอย่างดี ในพุทธศาสนากล่าวเรื่องภพชาติ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้คิดว่าอดีตชาติน่าจะต้องเคยผูกบุญสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเมืองไทยไว้ เมื่อคุณลัดดาตัดสินใจเดินบนเส้นทางฉือจี้ จึงยิ่งเข้าใจถึงแนวคิดของท่านธรรมาจารย์ยิ่งขึ้น “เดิมทีเคยคิดว่า ต้องเป็นคนที่ร่ำรวยเท่านั้น จึงจะทำบุญได้ แต่ท่านธรรมาจารย์กลับบอกว่า จากข้าวหนึ่งเมล็ดสะสมจนเต็มถัง จากน้ำหนึ่งหยดไหลรวมจนเป็นลำธาร หากคนหลายคนทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกัน เมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ข้าวเพียงหนึ่งเมล็ดของคุณ ก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ แนวคิดนี้ของท่านธรรมาจารย์ เปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับการทำบุญแบบเดิม นอกจากนี้ สิ่งที่ประทับใจก็คือ กองทุนต่างๆ ของมูลนิธิ ผู้บริจาคสามารถระบุได้ว่าจะบริจาคเงินเข้ากองทุนอะไร ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้ กองทุนการก่อสร้าง กองทุนการศึกษา เป็นต้น ซึ่งฉือจี้จะนำเงินบริจาคนี้ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค”
 
“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก่อสร้างศูนย์กิจกรรมวัดโบสถ์วรดิตถ์
 
ครั้งแรกที่คุณลัดดามาร่วมกิจกรรมของฉือจี้ คือ การบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยบริเวณปริมณฑล เนื่องจากได้เห็นความทุกข์จำนวนมากของผู้คน ทำให้ใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่า เพื่อไปช่วยเหลือพวกเขา “พวกเราต่างก็เสียสละด้วยความยินดี เริ่มจากกิจกรรมการดูแลเด็กๆ ด้อยโอกาส ที่วัดโบสถ์วรดิตถ์ สิ่งที่นำไปบริจาค จิตอาสาก็จะช่วยกันรับผิดชอบ ครั้งนี้เธอดูแลเรื่องยาสีฟัน ฉันดูแลเรื่องแปรงสีฟัน สบู่ เป็นต้น อาหารกลางวันที่จิตอาสารับประทานตอนกลางวัน ก็จัดเตรียมกันมาจากกรุงเทพฯ ตกลงกันว่าครั้งนี้ฉันเตรียมกับข้าวเมนูนี้ไป ให้คุณเตรียมกับข้าวอีกเมนูไป เพื่อไปรับประทานร่วมกับทุกคน การเดินทางไปวัดโบสถ์ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีจิตศรัทธาให้เรายืมรถบัสเป็นประจำทุกเดือน ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทาง” คุณลัดดาบอกเล่าความทรงจำที่เปี่ยมด้วยความสุขจากการทำงานฉือจี้
 
เนื่องจากสถานที่จัดกิจกรรมในช่วงแรกของเด็กๆ วัดโบสถ์ค่อนข้างแคบ อากาศก็ค่อนข้างร้อนอบอ้าว แม้คุณลัดดาจะไม่มีลูก แต่ด้วยคำสอนของท่านธรรมาจารย์ ที่สอนให้ดูแลเด็กทุกคนดุจดังบุตรหลานของตน จึงห่วงใยสุขภาพของเด็กๆ วัดโบสถ์กว่า 400 คนในตอนนั้น “ตอนที่จัดกิจกรรม เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยังรู้สึกร้อนจนเหงื่อไหลกันยกใหญ่ เพราะเดิมที ที่ตรงนั้นไม่มีหน้าต่าง อากาศไม่ถ่ายเท แม้เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จะไม่ป่วย แต่เด็กๆ วัดโบสถ์ก็อาจจะล้มป่วยลงได้ จึงคิดว่าเราควรจะต้องสร้างศูนย์กิจกรรมที่อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกให้กับวัดโบสถ์ จึงได้ไปปรึกษากับหลวงพ่อซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี”
 
เจ้าอาวาสยังช่วยเป็นธุระ สอบถามงบประมาณในการก่อสร้างมอบให้กับชาวฉือจี้ “ฉันก็คิดว่า เอาล่ะ จากงบประมาณ 3 แสนกว่าในการก่อสร้างนี้ เราจะมาระดมทุนร่วมกันผ่านการขอรับบริจาค ซึ่งตอนนั้นพี่น้องชาวฉือจี้หลายท่านก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี บริจาคมากน้อยตามกำลัง ทำให้เงินกองทุนที่ยังขาดอยู่มีไม่มาก แล้วจึงไปขอรับบริจาคจากบุคคลภายนอก พ.ศ.2541 จึงสร้างศูนย์กิจกรรมให้กับวัดโบสถ์ได้เป็นผลสำเร็จ” คุณลัดดาแบ่งปันขั้นตอนในการก่อสร้างศูนย์กิจกรรม นอกจากนั้นยังขอรับบริจาคพัดลมจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อให้เด็กๆ วัดโบสถ์วรดิตถ์ได้ใช้อีกด้วย
 
หลังการก่อสร้างศูนย์กิจกรรมแล้วเสร็จ กิจกรรมต่างๆ ที่จัดให้เด็กๆ วัดโบสถ์ ทั้งการแนะนำเรื่องสุขอนามัย การเยี่ยมเยียนดูแลเด็กๆ ทุกเดือน รวมถึงการจัดกิจกรรมของหน่วยงานการกุศลอื่นๆ ก็ใช้สถานที่ของศูนย์กิจกรรมแห่งนี้ ซึ่งช่วยกันแดดกันฝน และอากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก
 
เรียนรู้รับผิดชอบ เรียนรู้พัฒนาตนเอง
 
เดิมที ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็มีคนช่วยจัดการให้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อก้าวเข้ามาบนวิถีพระโพธิสัตว์ จึงเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พัฒนาตนเอง คุณลัดดาเล่าว่า “ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่ง มีชาวไต้หวันเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตกับครอบครัว เมื่อถึงภูเก็ตอาการป่วยของคุณพ่อเขา ก็กำเริบจนต้องเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตลงในที่สุด ตอนนั้นฉือจี้ที่ไต้หวัน ส่งโทรสารมาที่สาขากรุงเทพฯ จากนั้นเราจึงรีบโทรศัพท์ไปยังโรงแรมที่พวกเขาพัก แล้วก็รีบจองตั๋วเครื่องบินไปภูเก็ต โดยตอนนั้นเราก็ปฏิบัติตามระเบียบคือ จะออกไปทำงานฉือจี้ต้องมีจิตอาสาไปพร้อมกันอย่างน้อยสามคน ซึ่งทุกคนก็ออกค่าเครื่องบินเอง สองวันถัดมาเราก็เดินทางถึงภูเก็ต”
 
ญาติผู้เสียชีวิตอยากดำเนินการฌาปนกิจภายในระยะเวลา 7 วัน เพื่อรีบส่งอัฐิกลับไต้หวัน ทั้งนั้นจิตอาสาทั้งในภูเก็ตและกรุงเทพฯ จึงร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยประสารงาน ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ฟันฝ่าอุปสรรคด้านภาษา และเจอกับวันหยุดที่หน่วยงานภาครัฐปิดทำการ ทว่าด้วยความตั้งใจ จึงสามารถดำเนินการเอกสาร ให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และสามารถจัดพิธีฌาปณกิจให้คุณพ่อที่เสียชีวิตได้สำเร็จตามความประสงค์ของญาติ “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันดำเนินการเรื่องแบบนี้ จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ ต่อมาเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยดำเนินการเร่งด่วนอย่างนี้อีก ก็รู้แล้วว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหน” คุณลัดดาแบ่งปันเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ จากนั้นเมื่อหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในไทยนำเสนอเหตุการณ์เรื่องราวความรักของชาวฉือจี้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงสร้างความซาบซึ้งใจให้กับผู้ประกอบการบริษัททัวร์แห่งหนึ่งของไทย และแปรเปลี่ยนความประทับใจเป็นการลงมือทำ ด้วยการยินดีร่วมบริจาคสมทบกองทุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้ฉือจี้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้
 
คุณลัดดายังเคยรับหน้าที่จิตอาสาด้านสื่อฯ บันทึกเรื่องราวความจริงอันดีงาม เรียนรู้การใช้กล้องถ่ายวีดิโอและกล้องถ่ายรูป จารึกประวัติศาสตร์ฉือจี้ “เพราะจิตอาสารท่านอื่นๆ ถ่ายรูปถ่ายวีดิโอกันไม่ได้ คนที่ถ่ายได้ก็ต้องทำงาน ที่บ้านของฉันก็มีกล้อง ฉันเลยเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ เมื่อไม่มีคนทำหน้าที่นี้ ฉันจึงมีโอกาสได้เข้ามาทำ” รูปภาพจากงานบรรเทาอุทกภัยใน จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2544 ที่คุณลัดดาถ่ายไว้ ยังได้รับรางวัลอีกด้วย ดังคำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่ว่า “ทำด้วยความตั้งใจ ก็เสมือนเป็นมืออาชีพ”
 
แสงอาทิตย์เจิดจ้า พระคุณบิดรมารดายิ่งใหญ่
 
คุณลัดดายังจดจำคำสอนของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนที่ว่า “แสงอาทิตย์เจิดจ้า พระคุณบิดรมารดายิ่งใหญ่” ได้ดี โดยร่วมกับพี่น้องชาวจิตอาสา ไปดูแลให้กำลังใจผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวและล้มป่วย ณ โรงพยาบาลเทียนฟ้า “มีคุณยายวัย 80 กว่าปีซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วท่านหนึ่ง ลูกหลานพาท่านมาอยู่ที่บ้านพักคนชรา ทุกครั้งที่เราไปเยี่ยม ท่านก็จะกุมมือของฉันแล้วก็พูดว่า ‘พาฉันกลับบ้านๆ’ แต่ฉันก็จะบอกท่านว่า ‘ยายคะ คุณยายอยู่ที่นี่สบายกว่านะคะ เพราะมีคนคอยช่วยดูแลเรื่องกินเรื่องอยู่ แล้วทุกเดือนเราก็จะได้มาดูแลท่านด้วย’ แต่ตอนนั้นท่านไม่ยอมพูดคำอื่นเลย นอกจากบอกว่าให้พาท่านกลับบ้าน” ด้วยความห่วงใย คุณลัดดาจึงตั้งปณิธานในใจตนเองว่า จะมาพบคุณยายทุกเดือน ช่วยทำความสะอาดสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ อาบน้ำและพูดคุยสร้างความสุขให้แก่ท่าน “เราจะไปเยี่ยมคุณยายเป็นประจำทุกเดือน เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องนานนับปี จนมีครั้งหนึ่งท่านก็กุมมือฉันไว้ แล้วก็ยิ้มอย่างมีความสุข ตอนนั้นเองที่ท่านไม่ได้พูดอีกแล้วว่า ให้พาท่านกลับบ้าน จากนั้นจึงเริ่มชวนฉันคุยสัพเพเหระ” แม้คุณลัดดาจะไม่ได้อยู่ข้างกายคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็อาศัยการดูแลผู้สูงอายุที่ไร้ที่พึ่ง เพื่อตอบแทนพระคุณของพวกท่าน 
 
ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ทำปัจจุบันให้ดี ยืนหยัดตราบนานเท่านาน
 
“หลังจากฉันทำงานฉือจี้ เพื่อนๆ ก็ถามฉันว่า โอ้โห ลัดดา เธอจะทำงานฉือจี้ได้จริงๆ หรือ เพราะเห็นฉันในอดีต ที่ชอบออกงานสังคม ไปร่วมงานเลี้ยงตามสมาคมต่างๆ ต่อมาฉันก็เลยใช้โอกาสนี้ ชักชวนพวกเขามาเป็นสมาชิกผู้บริจาคสนับสนุนฉือจี้ เพราะเริ่มต้นจากญาติมิตรรอบตัว ทำให้การขอรับบริจาคของฉันค่อนข้างราบรื่นค่ะ” คุณลัดดา ขอบพระคุณท่านธรรมาจารย์ที่สร้างโลกแห่งความรักของฉือจี้ ทำให้ตนเองมีโอกาสผูกบุญสัมพันธ์กับผู้คนมากยิ่งขึ้น
 
เส้นทางวิถีพระโพธิสัตว์ฉือจี้ คำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่ว่า “ทำด้วยความสมัครใจ ยอมรับผลด้วยความยินดี” เคียงข้างคุณลัดดามาจนถึงทุกวันนี้ “ตอนแรกๆ ฉันก็ค่อนข้างเจ้าอารมณ์ แต่เมื่อเข้ามาฉือจี้ ฉันซึ่งไม่ค่อยชอบแสดงออก ก็จะทำงานอยู่เงียบๆ ให้ความร่วมมือกับทุกคน หลีกเลี่ยงการเกิดปัญหา เพราะช่วงแรกปัญหาก็ค่อนข้างเยอะ ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ความเห็นส่วนน้อยก็ยอมรับความเห็นของคนส่วนมากและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” คุณลัดดายังแบ่งปันอีกว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ก้าวตามรอยเท้าของท่านธรรมาจารย์ บนเส้นทางวิถีพระโพธิสัตว์ฉือจี้ ทำให้ตนเองมีโอกาสได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง มิเช่นนั้น หากไม่ได้เข้ามาทำงานฉือจี้ ก็จะคิดถึงแต่ตนเอง ไม่เคยคำนึงถึงผู้อื่น แต่ตอนนี้รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา นำหลักรู้สำนึกบูยคุณ รู้เคารพและรู้รักมาจัดการเรื่องราวต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ตั้งปณิธานว่า แม้ปัจจุบันจะอายุมากแล้ว แต่ก็จะใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสียสละเพื่อผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ยืนหยัดอย่างนี้ตราบนานเท่านาน พร้อมทั้งจะถ่ายทอดหลักธรรมจิ้งซือของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนไปยังคนรุ่นหลัง ผูกบุญสัมพันธ์กับผู้คนให้มากยิ่งขึ้น เชิญชวนมาร่วมเสียสละกุศลจิตช่วยเหลือสังคม
 
 
 พ.ศ.2541 อาสาสมัครฉือจี้ในเมืองไทย ช่วยระดมทุนเพื่อก่อสร้างศูนย์กิจกรรมให้กับวัดโบสถ์วรดิตถ์

หลังการก่อสร้างศูนย์กิจกรรมให้วัดโบสถ์วรดิตถ์แล้วเสร็จ กิจกรรมต่างๆ ที่จัดให้เด็กๆ วัดโบสถ์ ก็ใช้สถานที่ของศูนย์กิจกรรมแห่งนี้

 

บรรเทาอุทกภัยใน จ.ศรีสะเกษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2544 ที่คุณลัดดาถ่ายไว้ยังได้รับรางวัลอีกด้วย ดังคำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่ว่า

“ทำด้วยความตั้งใจ ก็เสมือนเป็นมืออาชีพ”

 

คุณลัดดาร่วมกับอาสาสมัครท่านอื่น เดินทางไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ณ โรงพยาบาลเทียนฟ้า

แม้มิได้อยู่ข้างกายพ่อแม่ แต่อาศัยการดูแลผู้สูงอายุที่ไร้ที่พึ่ง เพื่อตอบแทนพระคุณของท่าน

 

คำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่ว่า “ทำด้วยความปีติ รับด้วยความยินดี” เคียงข้างคุณลัดดามาจนถึงทุกวันนี้


เรื่อง บุษรา สมบัติ            ภาพ ฉือจี้ประเทศไทย