แม่พิมพ์แห่งความหวังรุ่นแรก “ผอ.นนทภัทร ประวีณชัยกุล”

20130401-31-byjakkrit resize

 

ผลผลิตทางการศึกษาที่งดงาม
 
ครบรอบ 10 ปี โรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่กับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายรุ่นที่ 1 หากจะกล่าวไปแล้ว นักเรียนเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังรุ่นแรก ที่ สร้างความประทับใจให้กับเหล่าครูอาจารย์ได้ไม่น้อย เพราะในจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาทั้งหมด 37 คน มีนักเรียนจำนวน 23 คน สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และในจำนวนนี้มีนักเรียน 4 คน เลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ไต้หวัน โดยที่ 1 คน ที่ได้ทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อไปศึกษาต่อพยาบาลที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ไต้หวัน และอีก 3 คน ได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยฉือจี้ไต้หวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงผลผลิตทางการศึกษาที่งดงาม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตของเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย หรือชีวิตการทำงานก็ตาม คุณครูทุกท่านก็หวังเพียงว่า นักเรียนทุกคนจะนำศีลธรรม จรรยา รวมถึงสิ่งดีๆ ที่ได้เรียนรู้ในรั้วฉือจี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และแต่งแต้มสีสัน วาดฝัน เติมสุขให้กับชีวิตตนเองได้ต่อไป
 
แม่พิมพ์แห่งความหวังรุ่นแรก
 
กว่าจะเป็นโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ได้อย่างทุกวันนี้ แต่ละขั้นตอนไม่ได้ผ่านมาอย่างง่ายดายเลย เริ่มตั้งแต่การหาที่ดินสร้างโรงเรียน หรือแม้กระทั่งการสรรหาคุณครูเพื่อมาบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ผอ. นนทภัทร  ประวีณชัยกุล ซึ่งเป็นคุณครูรุ่นแรกของโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ ได้บอกเล่าว่า ในตอนนั้นตนเป็นครูอัตราจ้างของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นประกาศการรับสมัครครูของทางโรงเรียน จึงส่งใบสมัครมาที่สำนักงานมูลนิธิที่กรุงเทพฯ ผ่านไปเกือบสองปี จนจำแทบไม่ได้ว่าเคยส่งใบสมัครไป วันหนึ่งก็มีอาสาสมัครติดต่อนัดมาสัมภาษณ์ที่โรงเรียน ผอ.นนทภัทรเล่าว่า ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากมาย คิดเพียงแต่ว่ามีงานทำเพื่อเลี้ยงชีพตน จึงตกลงมารับสัมภาษณ์ที่โรงเรียน ซึ่งขณะนั้นกำลังดำเนินการสร้างอาคารเรียนอยู่ ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน หรือรู้จักฉือจี้มาก่อน แต่เมื่อได้พบเจอกับอาสาสมัครก็ทำให้ ผอ.นนทภัทรรู้สึกประทับใจในฉือจี้ตั้งแต่แรกพบ “ครั้งที่มาสัมภาษณ์ก็ได้เห็นอาสาสมัครฉือจี้ และรู้สึกประหลาดใจว่า ยังมีผู้ใหญ่ที่คอยมาไหว้ต้อนรับเด็กๆ เชิญรับประทานอาหารเที่ยง ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน”
 
เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้ว คุณครูที่ผ่านการสัมภาษณ์จะต้องมาเรียนรู้และอบรมวัฒนธรรมการศึกษาของฉือจี้ที่ไต้หวัน  เป็นระยะเวลา 6 เดือน  โดยเดินทางไปอบรม ครั้งแรก 2 เดือน กลับมาอบรมที่เมืองไทย 1 เดือน และเดินทางไปไต้หวันครั้งที่สองอีก ครั้งละ 3 เดือน ซึ่งก่อนจะเดินทางไปอบรมที่ไต้หวัน อาสาสมัครฉือจี้ที่เมืองไทย ก็ได้ทำการอบรมถึงวัฒนธรรมของฉือจี้ในเบื้องต้นให้กับคุณครูที่ผ่านการสัมภาษณ์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ “ตอนนั้นมีทั้งหมด 6 คน พอไปถึงก็จัดการแปลงโฉม รวบผมให้เรียบร้อย ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ เราก็ได้เรียนภาษาจีน มารยาทต่างๆ เช่น การเดิน การรับประทานอาหาร การนั่ง เป็นต้น ซึ่งอาสาสมัครก็จะทำหน้าที่ปูพื้นฐานในส่วนนี้ให้กับพวกเรา  และที่สำคัญคือความเป็นมาของฉือจี้ที่เราได้เรียนรู้ในขณะนั้นด้วย“ เมื่อผ่านการอบรมวัฒนธรรมการศึกษาของฉือจี้ทั้งในเมืองไทยและที่ไต้หวันแล้ว มิใช่ว่าคุณครูทั้ง 6 ท่านนี้จะได้ทำหน้าที่ของการเป็นครูเช่นเดียวกับครูในโรงเรียนทั่วๆไปได้ทันที เพราะขณะที่โรงเรียนอยู่ในช่วงบุกเบิกนั้น แม่พิมพ์รุ่นแรกทั้ง 6 ท่านนี้ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างร่วมกับอาสาสมัคร เช่น ดูแลครอบครัวบุญคุณ ออกประชาสัมพันธ์โรงเรียนตามชุมชนต่างๆ จัดห้องเรียน ปูอิฐตัวหนอน รวมทั้งงานทำความสะอาดโรงเรียน เป็นต้น 
 
จิตวิญญาณครูยังไม่เลือนหาย 
 
ในช่วงเริ่มแรกที่โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการนั้น จำนวนนักเรียนยังไม่มากนัก คุณทั้ง 6 ท่านนี้จึงช่วยสอนนักเรียนร่วมกัน โดยมีคุณครูจิตอาสาจากสมาคมครูฉือจี้ช่วยเหลืองานโรงเรียน สอนวัฒนธรรมฉือจี้ให้กับเด็กๆ อาทิเช่น การเดิน การนั่ง การไหว้ การรับประทานอาหาร ฯลฯ  ระยะเวลาผ่านไป ทุกอย่างเริ่มลงตัวมากขึ้น จำนวนนักเรียนมากขึ้น จำนวนคุณครูก็มากขึ้นเช่นกัน จนทำให้ปีการศึกษาที่ผ่านมาสามารถเปิดเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ และภายใต้หน้าที่คุณครูการปลูกฝังวัฒนธรรมอันดีงามของมนุษย์ตามแบบฉือจี้ตลอดมา คุณครูนนทภัทรก็ได้รับหน้าที่ใหม่ในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ รุ่นที่ 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556
 
แม้ปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ ในแต่ละวันต้องคอยดูแลงานด้านบริหารของโรงเรียน แต่จิตวิญญาณความเป็นครูยังไม่เลือนหาย หากมีโอกาสก็จะลงมาอบรมสั่งสอนเด็กๆ ด้วยตัวเองอยู่เสมอ บ่อยครั้งในกิจกรรมทำความสะอาดโรงเรียน ผอ.นนทภัทร จึงมักจัดสรรเวลาจากภาระงาน มาร่วมทำความสะอาดโรงเรียน รวมถึงห้องน้ำกับนักเรียนด้วย “เมื่อเขาเห็นเราทำ เขาก็จะได้ลงมือทำ ก็เหมือนกับว่าเราต้องทำทุกอย่างให้เป็นแบบอย่างที่ดีกับเขา” ผอ.นนทภัทร แบ่งปัน 
 
ประสบการณ์ชีวิตจากรั้วฉือจี้
 
บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาตินั้น ต้องพร้อมด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู  ผอ.นนทภัทร แบ่งปันว่า การสอนและดูแลนักเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอด เมื่อมาทำหน้าที่ครูที่โรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นมิใช่เป็นการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการดูแลนักเรียนด้วยความเมตตาดั่งพวกเขาเป็นลูกหลานของตน  และเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ ได้รับความรักจากคุณครูแล้ว พวกเขาจะสามารถนำความรักจากเราไปมอบให้กับคนอื่นๆ ได้ “การที่เราสอนและดูแลเด็กๆ ตั้งแต่ที่พวกเขาก้าวเข้ามาในโรงเรียน จนเขากลับบ้าน ให้เขาเป็นคนที่ดีในการดำเนินชีวิต ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนเราได้ช่วยให้พวกเขารู้จักความเป็นมนุษย์มากขึ้น ”
 
เมล็ดพันธ์รุ่นแรกในความทรงจำ 
 
ผ่านไปนานหลายปี มิใช่จะลืมเลือนความรู้สึกดีๆ ต่อลูกศิษย์ เมล็ดพันธุ์รุ่นแรกที่จบการศึกษาไปในปีนี้ ยังฝากความประทับใจไว้เสมอ ผอ.นนทภัทรได้แบ่งปันว่า ในช่วงแรกๆที่โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอนนั้น มีเด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เขามีแววตาดูไร้เดียงสา แต่แฝงไปด้วยความซุกซน ชอบแกล้งหรือหยอกล้อเพื่อนๆ ทำให้วีรกรรมความซุกซนของเด็กชายภูพิงค์   ชวาลพิชญ์ เป็นที่รู้จักของคุณครูทั้งโรงเรียน แต่คุณครูทุกท่านก็ยังคงรักและเมตตา ทั้งคอยอบรมให้เด็กน้อยเข้าใจว่า การแกล้งหรือหยอกล้อเพื่อนรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่เพื่อนไม่ชอบด้วย ทำให้ภายหลังภูพิงค์มีพฤติกรรมดีขึ้น 
 
แต่อย่างไรก็ตามความซุกซนก็ยังไม่หมดไป ความซุกซนที่เขามียังคงเป็นที่โจทย์ขานของผองเพื่อนจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่มีพฤติกรรมค่อนข้างซุกซน แต่ภูพิงค์ก็มีความมุ่งมั่นในการเรียน โดยเฉพาะในด้านที่ตนเองสนใจ เช่นมีครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อประชาสัมพันธ์ เดินทางไปถ่ายทำวีดิโอกิจกรรมบรรลุนิติภาวะของนักเรียนฉือจี้เชียงใหม่ ภูพิงค์ก็คอยมาสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งคอยซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการถ่ายวีดิโอ เป็นต้น เมื่อรู้ความใฝ่ฝันที่ตนเองต้องการ ภูพิงค์ก็กำหนดทิศทางชีวิตและเดินไปตามเส้นทางนั้น เมื่อจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายในปีนี้แล้ว เขาจึงเลือกเรียนในคณะสื่อสารมวลชน ณ มหาวิทยาลัยฉือจี้ไต้หวัน เพื่อสานฝันให้สำเร็จต่อไป
 
ทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นในปณิธานด้านการศึกษาอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาสาสมัครคุณครูและผู้สนับสนุนทุกท่าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้จากพื้นที่อันว่างเปล่าเมื่อ 10 ปีก่อน ก่อเกิดเป็นโรงเรียนที่สง่างามพร้อมด้วยเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมฉือจี้ ก่อเกิดเป็นเมล็ดพันธุ์รุ่นแรกที่งดงามเฉกเช่นวันนี้
 
 

 เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้ว คุณครูต้องผ่านการอบรมวัฒนธรรมการศึกษาของฉือจี้ ขั้นตอนแรกก็คือ การเรียนภาษาจีน โดยมีอาสาสมัครคอยดูแลเคียงข้างตลอดการอบรม
 
 
 
นอกจากภาษาจีนแล้ว มารยาทพื้นฐาน เช่น การเดิน การนั่ง การรับประทานอาหาร ก็เป็นสิ่งที่ที่คุณครูรุ่นแรกทั้ง 6 ท่านต้องเรียนรู้

เพื่อจะได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของฉือจี้และเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน

 

คุณครูรุ่นแรกก้าวสู่รั้วโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ ร่วมสรรค์สร้างภารกิจการศึกษาของฉือจี้ตั้งแต่การสร้างอาคารเรียนยังไม่แล้วเสร็จ

 

 เนื่องในตอนนั้นยังเป็นช่วงบุกเบิกของโรงเรียน ดังนั้น คุณครูรุ่นแรกยังได้สวมบทบาทจิตอาสาด้วย โดยการออกไปประชาสัมพันธ์โรงเรียนตามชุมชนต่างๆ 

 

เมื่ออาคารเรียนสร้างแล้วเสร็จ อาสาสมัครและคุณครูก็ช่วยกันทำความสะอาดและจัดห้องเรียน

 

 การเยี่ยมเยียน ดูแลครอบครัวผู้ยากไร้ ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่คุณครูรุ่นแรกได้เรียนรู้

 

 ถึงแม้ปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แต่จิตวิญญาณของความเป็นครูก็ยังไม่เลือนหาย

หากมีโอกาสก็จะมาสอนเด็กๆด้วยตัวเอง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน ร่วมทำความสะอาดห้องน้ำกับเด็กๆ เป็นต้น

 

 ผอ.นนทภัทร แบ่งปันว่า “การสอนให้เขาเป็นคนที่ดีในการดำเนินชีวิต ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนเรา ได้ช่วยให้พวกเขารู้จักความเป็นมนุษย์มากขึ้น”

 

“เมล็ดพันธุ์รุ่นแรกแห่งความทรงจำ” นายภูพิงค์   ชวาญพิชญ์ (นักเรียนซ้าย 1) ถึงแม้ความซุกซนจากวัยเด็กจะยังไม่หมดไป แต่ภูพิงค์ก็มีความมุ่งมั่นในการเรียน

โดยเฉพาะในด้านที่ตนเองสนใจ เมื่อจบการศึกษามัธยมปลายในปีนี้แล้ว เขาจึงเลือกเรียนในคณะสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ไต้หวัน เพื่อสานฝันของตนเองให้สำเร็จต่อไป

 


เรื่อง ดรรชนี  สุระเทพ         ภาพ ฉือจี้ประเทศไทย